อิทธิพลต่าง ๆ ที่มีต่อลักษณะสถาปัตยกรรม ของ สถาปัตยกรรมกอทิก

ภูมิภาค

ในตอนปลายของคริสต์ศตวรรษที่ 12 ยุโรปก็แบ่งออกเป็นนครรัฐและราชอาณาจักรต่าง ๆ บริเวณที่รวมทั้งในปัจจุบันที่เป็นเยอรมนี, เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม, ลักเซมเบิร์ก, สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรีย, ทางตะวันออกของฝรั่งเศส และส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของอิตาลียกเว้นเวนิสก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และประมุขของท้องถิ่นก็ยังคงมีอำนาจพอสมควร ฝรั่งเศส สกอตแลนด์ สเปน และ ซิซิลี ต่างก็เป็นราชอาณาจักรอิสระ รวมทั้งอังกฤษที่ปกครองโดยกษัตริย์แพลนทาเจเน็ทผู้ปกครองดินแดนส่วนใหญ่ในฝรั่งเศสในขณะเดียวกันด้วย[6] นอร์เวย์มาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษ ขณะที่ประเทศสแกนดิเนเวียอื่น ๆ และโปแลนด์อยู่ภายใต้อิทธิพลของเยอรมนี กษัตริย์อ็องฌูเป็นผู้นำวัฒธรรมกอทิกไปเผยแพร่ยังอิตาลีใต้

ยุโรปโดยทั่วไปในช่วงนั้นอยู่ในระหว่างความรุ่งเรืองทางการค้าที่เป็นผลมาจากความเจริญของเมืองต่าง ๆ [7][8] เยอรมนีและกลุ่มประเทศต่ำมีเมืองใหญ่ ๆ หลายเมืองที่รุ่งเรืองมั่งคั่งที่แข่งขันกันอย่างสันติ และบางกลุ่มก็มารวมตัวกันเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น กลุ่มสันนิบาตฮันเซียติก การก่อสร้างสิ่งก่อสร้างสำคัญที่เป็นของเมืองก็กลายมาเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของเมือง แต่ทางอังกฤษและฝรั่งเศสยังคงอยู่ในระบบการปกครองแบบศักดินาซึ่งทำให้สถาปัตยกรรมยังเป็นการเน้นการก่อสร้างสำหรับผู้ครองอาณาจักร แทนที่จะเป็นตึกเทศบาลเมืองหรือสิ่งก่อสร้างที่เป็นของประชาชนผู้มั่งคั่งในเมือง

วัสดุ

ภายในวิหารของบาดโดเบอรันในเยอรมนีที่ใช้อิฐอันมีสีสัน, ค.ศ. 1386

ปัจจัยอื่นที่เป็นอิทธิพลของท้องถิ่นก็คือวัสดุก่อสร้าง ในฝรั่งเศสหินปูนเป็นสิ่งที่มีอยู่โดยทั่วไปหลายระดับ ตั้งแต่ชนิดที่ละเอียดในบริเวณก็อง (Caen) ที่เป็นที่นิยมของประติมากรในการใช้แกะสลัก อังกฤษมีหินปูนแต่หยาบกว่า และหินทรายสีแดง และ หินอ่อนเพอร์เบ็คสีเขียวคร่ำที่มักจะใช้ในการตกแต่ง

ทางตอนเหนือของเยอรมนี, เนเธอรแลนด์, สแกนดิเนเวีย, ประเทศในบอลติก และ ทางตอนเหนือของโปแลนด์ก็มีหินแต่การก่อสร้างนิยมการใช้อิฐซึ่งเป็นลักษณะที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมกอทิกอิฐ (Backsteingotik) และมักจะเป็นนัยยะถึงกลุ่มสันนิบาตฮันเซียติก

ในอิตาลีหินใช้ในการก่อสร้างป้อมปราการ แต่อิฐเป็นที่นิยมในการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ นอกจากนั้นอิตาลีก็ยังมีหินอ่อนเป็นจำนวนมากและหลายแบบ ด้านหน้าของสิ่งก่อสร้างจึงมักจะทำด้วยหินอ่อนบนด้านในที่เป็นอิฐ ฉะนั้นบางครั้งจึงพบสิ่งก่อสร้างที่ยังสร้างไม่เสร็จที่ด้านหน้ายังคงเป็นอิฐที่รอการต่อเติมให้เป็นหินอ่อนในเวลาต่อมา

การใช้ไม้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรม เช่นในการก่อสร้างเพดานที่ใช้คานแฮมเมอร์ (hammer-beam) อันวิจิตรของอังกฤษเป็นการก่อสร้างที่มีผลมาจากการขาดไม้ที่ตรงและยาวในตอนปลายของยุคกลาง เมื่อป่าถูกถางไปสร้างเรือและเพดานขนาดใหญ่[7][9]

ศาสนา

ช่วงต้นสมัยกลางเป็นสมัยของความรุ่งเรืองของอารามต่าง ๆ ที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นและแพร่ขยายไปทั่วยุโรป คณะนักบวชคาทอลิกที่นำหน้ากว่าคณะอื่นคือคณะเบเนดิกตินผู้สร้างแอบบีขนาดใหญ่มากมายกว่าคณะอื่นใดในอังกฤษ คณะเบเนดิกตินมักจะสร้างแอบบีภายในตัวเมือง ไม่เหมือนกับคณะซิสเตอร์เชียนที่มักจะสร้างในชนบท คณะซิสเตอร์เชียนและคณะกลูว์นีจะเป็นลัทธิที่แพร่หลายในฝรั่งเศส อารามที่กลูว์นีสร้างกลุ่มสิ่งก่อสร้างที่ใช้เป็นอารามที่เป็นระเบียบแบบแผนที่กลายมามีอิทธิพลต่อการก่อสร้างกลุ่มสิ่งก่อสร้างสำหรับอารามเป็นเวลาหลายร้อยปีต่อมา

ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีก็ตั้งคณะฟรันซิสกัน หรือที่เรียกว่า "ไฟรอาร์เทา" (Grey Friars) ที่แยกออกมาคณะดอมินิกันที่ก่อตั้งโดยนักบุญดอมินิกในตูลูสและโบโลญญามีอิทธิพลต่อการก่อสร้างสถาปัตยกรรมกอทิกในอิตาลี[7][8]

สถาปัตยกรรม

สถาปัตยกรรมกอทิกวิวัฒนาการมาจากสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ก่อนหน้านั้น ส่วนใหญ่แล้วการเปลี่ยนแปลงมิใช่การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เช่นที่เกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของฟลอเรนซ์ไปเป็นสถาปัตยกรรมคลาสสิกโดยฟีลิปโป บรูเนลเลสกีเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15

สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์

จรมุขที่มหาวิหารแซ็ง-เดอนี
ดูบทความหลักที่: สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์

สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ หรือ สถาปัตยกรรมนอร์มันที่เป็นคำที่ใช้ในอังกฤษเพราะความสัมพันธ์กับการรุกรานของนอร์มันเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่วางรากฐานของรูปทรงพื้นฐานทางสถาปัตยกรรมที่ค่อยมาเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปตลอดสมัยกลาง โครงสร้างพื้นฐานของมหาวิหาร โบสถ์ประจำเขตแพริช, อาราม, ปราสาท, วัง, โถงใหญ่ (great hall) และ เรือนเฝ้าประตูต่างก็ได้รับการวางรากฐานไว้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับการสร้างเพดานโค้งสัน, กำแพงครีบ, เสากลุ่ม (clustered columns), ยอดแหลม (spires), ประตูแกะสลัก[10]

ความเปลี่ยนแปลงสิ่งเดียวที่มีความสำคัญต่อการแยกระหว่างลักษณะของสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์กับกอทิกคือการการเปลี่ยนแปลงจากการใช้ผนังอันหนาเทอะทะที่มีช่องเปิดแคบ ๆ เป็นระยะ ๆ ไปเป็นลักษณะของสิ่งก่อสร้างที่เต็มไปด้วยแสง ที่ใช้ลักษณะเด่นของเพดานโค้งแหลม การใช้เพดานโค้งแหลมทำให้เกิดการพัฒนาวิธีการก่อสร้างหลายอย่างที่ได้ทำการทดลองกันตามที่ต่างจนเมื่อประสบผลสำเร็จแล้วจึงได้ทำการเผยแพร่ให้ใช้ได้โดยทั่วไป การพัฒนาก็เพื่อการตอบสนองความต้องการทางโครงร่าง, ความงดงาม และความต้องการทางปรัชญา ความเปลี่ยนแปลงก็รวมทั้งกำแพงปีกนก, ยอดแหลมรายบนหลังคา, หน้าต่างตกแต่งด้วยซี่หินเป็นลวดลาย[7]

อิทธิพลจากตะวันออก

การสร้างเพดานแบบที่เรียกว่า 'pitched brick' ที่สามารถสร้างได้โดยไม่ต้องมีศูนย์กลางรับอาจจะทำมาตั้งแต่สมัยตะวันออกใกล้โบราณมาจนถึงสองร้อยปีก่อนคริสต์ศักราช[11] ตัวอย่างที่เก่าที่สุดของโค้งแหลมที่ทำด้วยปูนพบในสมัยสถาปัตยกรรมของปลายโรมัน และ จักรวรรดิซาสซานิยะห์ โดยเฉพาะในการสร้างคริสต์ศาสนสถานในสมัยแรกในซีเรีย และเมโสโปเตเมีย แต่บางครั้งก็พบในสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างทางศาสนาด้วยเช่นสะพานคารามาการา.[12] หลังจากการพิชิตดินแดนของมุสลิมในคริสต์ศตวรรษที่ 7 การก่อสร้างลักษณะนี้ก็กลายมาเป็นลักษณะมาตรฐานของสถาปัตยกรรมอิสลาม[7]

ความเห็นของทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าการเพิ่มการเกี่ยวข้องกันทางทหารและทางวัฒนธรรม ที่รวมทั้งนอร์มันได้รับชัยชนะ (Norman conquest of southern Italy) ต่อซิซิลีของอิสลามในปี ค.ศ. 1090, สงครามครูเสดที่เริ่มในปี ค.ศ. 1096 และอิสลามในสเปน นำมาซึ่งความรู้ของโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญมายังยุโรปยุคกลาง[13]

อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าเชื่อกันว่าโค้งแหลมวิวัฒนาการขึ้นตามธรรมชาติในยุโรปตะวันตกเพื่อเป็นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้าง พร้อมกับการเริ่มใช้ลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของโบสถ์ในฝรั่งเศสและอังกฤษ[13]

ใกล้เคียง

สถาปัตยกรรมบารอก สถาปัตยกรรมอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก สถาปัตยกรรมมหาวิหารสมัยกลางในอังกฤษ สถาปัตยกรรมอินเดีย สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ สถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษ สถาปัตยกรรมมาซิโดเนียเหนือ สถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมกอทิก สถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์